คณะทำงานธรรมนูญสงฆ์ สาธิตการอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์
คณะทำงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้สาธิตการที่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกดูอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์และอาจารย์ https://www.boonnews.tv/n25053
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 คณะทำงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้สาธิตการที่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกดูอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์และอาจารย์ตามกรณีตัวอย่างที่พระที่จังหวัดยโสธร และพระอุดมธีรคุณ หัวหน้าศูนย์ศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) จังหวัดนครราชสีมา ผู้ประสานพลังหลัก ทีมขับเคลื่อนธรรมนูญสงฆ์ธรรมยุตไปเยี่ยมสงฆ์อาพาธคือพระราชสุทธาจารย์ (หลวงตาบวร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดยโสธร (ธ) พระอุปัชฌาย์เจ้าคุณพระอุดมธีรคุณ เมื่อครั้งบรรพชาสามเณร
ทั้งนี้การดูแลตนเองและกันเองตามพระธรรมวินัย หนึ่งในหลายรูปแบบที่มีเป็นการทั่วไปที่พระธรรมวินัยกำหนดไว้ มีคำ 2 คำ คือ คำว่า “สัทธิวิหาริก” กับ “อันเตวาสิก” นั้น ผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วคงจะคุ้นเคยกับสองคำนี้มากกว่าคนทั่วๆ ไป
“สัทธิวิหาริก”
แปลว่า ผู้อยู่ด้วย เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท คือ ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์รูปใด ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น ที่เรียกว่า สัทธิวิหาริก นั้น เพราะพระวินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุผู้บวชใหม่จะต้องถือนิสสัยโดยอยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้พระอุปัชฌาย์อบรมแนะนำสั่งสอนเหมือนบิดาสอนบุตร ภิกษุผู้มีพรรษาพ้น 5 แล้ว ไม่ต้องถือนิสสัยต่อไป เรียกภิกษุนั้นว่า นิสสัยมุตตกะ (ผู้พ้นนิสสัยแล้ว)
ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติ ที่สัทธิวิหาริกพึงกระทำต่อพระอุปัชฌาย์ของตนโดยย่อ คือ เอาใจใส่ ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพ จะไปไหนก็บอกลา ไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า “อุปัชฌายวัตร”
ส่วนหน้าที่ หรือ ข้อควรปฏิบัติอันพระอุปัชฌาย์จะพึงกระทำแก่สัทธิวิหาริก คือ
(1) เอาธุระในการศึกษา
(2) สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่นๆ
(3)ขวนขวาย ป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ระงับความคิดจะสึก เปลื้องความเห็นผิด ฯลฯ
(4) พยาบาลเมื่ออาพาธ เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า “สัทธิวิหาริกวัตร”
“อันเตวาสิก”
แปลว่า ผู้อยู่ภายใน ใช้เรียกภิกษุผู้อาศัยอยู่กับอาจารย์ หรือภิกษุผู้มิใช่พระอุปัชฌาย์ของตน เช่น บวชจากวัดนี้ไปอาศัยอยู่กับอาจารย์อีกวัดหนึ่งเพื่อเล่าเรียน ดังนี้เรียกว่าเป็นอันเตวาสิกของวัดนั้น อันเตวาสิก มี 4 ประเภท คือ(1)ปัพพชันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกในบรรพชา (2) อุปสัมปทันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกในอุปสมบท (3) นิสสยันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกผู้ถือนิสสัย (4) ธัมมันเตวาสิก คือ อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม ดังนั้น “สัทธิวิหาริก” จึงคู่กับ “อุปัชฌาย์” ส่วน “อันเตวาสิก” คู่กับ “อาจารย์”
นับได้ว่า ลูกศิษย์ต้องดูแลอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ คือ ความงดงามของหมู่สงฆ์