"โนโมโฟเบีย" โรคร้ายในยุคสื่อสาร !!

‘โรคโนโมโฟเบีย’ บางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว หรือแบตฯหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ https://www.boonnews.tv/n25464

839 ผู้เข้าชม

     แพทย์เตือนสังคมก้มหน้า ‘แชต-แชร์’ มาก ระวัง! ‘โรคโนโมโฟเบีย’ บางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว หรือแบตฯหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ


"โนโมโฟเบีย"  โรคร้ายในยุคสื่อสาร !!

     พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า 

     ในยุคที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร หลายคนมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรีหมด คอยเช็คข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็คโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม หรือในแต่ละวัน ใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกวินิจฉัยว่า เป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว หรือแบตฯหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ

     “อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และสังคม โดยเฉพาะด้านสุขภาพร่างกาย เช่น 

     1. นิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้ว กด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน 

     2. อาการทางสายตา เช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็ก ๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม 

     3. ปวดเมื่อคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนาน ๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร 

     4. โรคอ้วน แม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว

"โนโมโฟเบีย"  โรคร้ายในยุคสื่อสาร !!

     ด้าน พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน แพทย์ประจำสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (รพ.เด็ก) กล่าวว่า 

     โมโนโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ (YouGov) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 ที่ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มเยาวชน 18-24 รองลงมาคือ กลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลักทางจิตเวช (DSM5) เนื่องจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค พยาธิสภาพทางจิตใจ และผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวยังมีไม่มากพอ

     “ทั้งนี้แนวทางการเปลี่ยนพฟติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเองมีหลายวิธี เช่น กำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ทโฟน เช่น ขณะเดิน กิน ก่อนนอน ตื่นนอนใหม่ ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทำงาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬา กิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทน เวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด” พญ.ทิพาวรรณ กล่าว


ข้อมูล : สสส.

แชร์