รถถัง ห้องมืด และควายกินควาย: ศิลปะกำลังบอกอะไร
ภาพสะท้อนจากการเข้าชมห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020” จัดแสดงใน 10 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ รวมศิลปิน 82 คน จาก 35 ประเทศ ระยะเวลา 29 ตค.'63 - 31 มค.'64 https://www.boonnews.tv/n27563
งานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020”
รถถัง ห้องมืด ควายกินควาย ผู้ลี้ภัย หมอลำ ทรัมป์ ธนบัตร โลกแฟนตาซี เป็นเพียงองค์ประกอบบางส่วนของเทศกาลศิลปะที่จัดแสดงอยู่ในขณะนี้ ความหลากหลายทางเทคนิคและเนื้อหาอาจถาโถมเข้าใส่ผู้เสพจนย่อยไม่ทัน … ไม่เป็นไร เราย่อยให้คุณบ้างแล้ว
เมื่อก้าวเข้าไปในอาคารโอ่โถงเพดานสูงลิบ …
นอกจากกำแพงสีขาวโพลนโค้งเป็นขดหอยแล้ว หากขึ้นมายังห้องจัดแสดงชั้น 8 เราจะได้พบภาพวาดสีสันสะดุดตาของศิลปินหญิง ลำพู กันเสนาะ เป็นด่านแรก ฝีแปรงของเธอสะท้อนความกล้าหาญและมั่นใจ แต่ละเฟรมขนาดใหญ่จนเห็นรูขุมขนคนในภาพชัดเจน สามารถดึงผู้ชมให้มีส่วนร่วมได้อย่างใกล้ชิด
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น …
เพราะยิ่งเดินเข้าไปในพื้นที่นิทรรศการเรื่อยๆ ก็เหมือนเรากลายเป็นเด็กพลัดหลงไปในโพรงกระต่าย
ควายกินควาย
ควายกินควาย
ไม่บ่อยนักที่จะเห็นศิลปินมืออาชีพหยิบดินน้ำมันมาเป็นวัสดุหลักในการทำงาน และยิ่งไม่บ่อยที่จะเห็นควายดินน้ำมันสีแสบ พากันบอกเล่าประเด็นสังคมหนักๆ ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘Flow’ สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวลาว สุลิยา ภูมิวงศ์ ว่าด้วยการปกครองของสังคมควายที่เดินตามผู้นำอย่างซึมเซื่องขึ้นทางหลวง แต่แล้วกลับนำไปสู่ความตาย
ศิลปินใช้ทักษะด้านแอนิเมชันนำดินน้ำมันมาปั้นเป็นเรื่องราวด้วยเทคนิค stop-motion สื่ออารมณ์ทั้งน่ารัก น่าขบขัน และน่ากลัวได้ในไม่กี่นาที
ห้องมืด
ห้องมืด
ห้องฉายหนังอันน่าสะพรึงที่สุด เห็นจะเป็นผลงานการจัดวางของศิลปินหญิง ฉันทนา ทิพย์ประชาติ
เธอนำนามธรรม เช่น ความตาย ความหวัง ความเชื่อ มาตีความเป็นภาพยนตร์สั้นและจัดแสดงได้โดดเด่นในนาม ‘ไหลถอน’
นอกจากทำภาพยนตร์สั้นแล้ว ศิลปินยังใส่ใจองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีผลกับประสบการณ์ของผู้ชม ตั้งแต่ตำแหน่งการวางตัวหุ่น ไปจนถึงการเลือกพื้นซึ่งสะท้อนสีและแสงจากจอ จนเหมือนผู้ชมได้เข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ
รถถัง
รถถัง
แทบไม่ต้องเอ่ยชื่อศิลปิน ก็พอจะเดาออกว่า ใครกันที่นำประวัติศาสตร์การเมืองยุโรปมาผสมผสานกับเครื่องลายครามจีนได้สวยงามลงตัว
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เชื้อเชิญให้ผู้ชมหันมาศึกษาเรื่องราวแห่งอำนาจที่แปลกประหลาดฉากหนึ่งของโลก แรงบันดาลใจของผลงาน ‘รถถังดรากูน’ เกิดจากบันทึกในประวัติศาสตร์เมื่อกษัตริย์ออกัสตัสที่ 1 แห่งโปแลนด์ ทรงชื่นชอบเครื่องลายครามจีนเป็นอย่างมาก จนได้เจรจาตกลงกับจักรพรรดิเฟรดเดอริค วิลเลียมที่ 1 แห่งปรัสเซีย เพื่อขอแลกทหาร 600 นายกับเครื่องลายคราม 151 ชิ้น
โลกแฟนตาซี
โลกแฟนตาซี
กา รัม คิม ศิลปินสาวชาวเกาหลีใต้นำเสนอผลงาน ‘#FANTASY’ ในโทนสีเหมือนความฝัน ทว่าความสวยงามแบบวัยรุ่นนี้ก็ใช่จะเป็นความจริงขึ้นมาได้
ศิลปินให้ผู้ชมสแกนคิวอาร์โค้ดเล่นเกม สิ่งที่ปรากฏในเกมอาจสะท้อนความจริงหรือความลวง ผู้ที่ได้ลองเท่านั้นที่รู้…
ผลงานที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ ล้วนบอกเล่าความเป็นไปของยุคสมัยนี้ได้อย่างน่าตื่นตา โลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย มีผู้คนเดินตามกัน มีความมืด มีอำนาจ มีความจริง มีความฝัน
ไม่แน่ว่า หากเราลองจินตนาการตัวเองเป็นเด็กน้อยที่กำลังผจญภัยในโพรงกระต่าย ก็อาจทำให้สนุกกับชีวิตมากขึ้นก็ได้
AUTHOR : ธรรมรุจา ธรรมสโรช
นักผลิตสื่อ กวี และศิลปิน เวลาว่างมักพาเพื่อนตระเวนชมงานศิลป์ชอบเล่าเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเด็นสังคมโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง
Posted in : THE MOMENTUM - CULTURE > ART AND DESIGN
Posted on : NOV 26, 2020