พระปิลินทวัจฉะ (๑)
“มา มํ มิตฺตา อมิตฺตา วา หึสนฺติ สพฺพปาณิโน สพฺเพสํ จ ปิโย โหมิ ปุญฺญกมฺมสฺสิทํ ผลํ สัตว์ทั้งปวงซึ่งเป็นมิตรและมิใช่มิตร ย่อมไม่เบียดเบียนเรา เราเป็นที่รักของสัตว์ทุกจำพวก นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม” https://www.boonnews.tv/n26822
เส้นทางในสังสารวัฏเป็นเส้นทางอันยาวไกล ที่จะต้องสั่งสมบุญบารมีอย่างเต็มที่ จึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เรื่องการทำบุญนั้น เราจะดูเบาคิดว่าจะทำเมื่อไรก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้ อย่าคิดอย่างนั้น เพราะกว่าที่เราจะได้บรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต คือ สามารถขจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป ไม่ใช่เรื่องพอดีพอร้ายเลย
หากเรายังเป็นผู้ที่ประมาทไม่เร่งสั่งสมบุญ และทำความเพียรด้วยการทำใจหยุดนิ่งควบคู่กันไป เส้นทางนั้นจะยิ่งยาวไกลออกไป ดังนั้น การสั่งสมบุญ และหมั่นปฏิบัติธรรมให้สมํ่าเสมอ จึงเป็นภารกิจหลักที่เราต้องเอาใจใส่ อย่าได้ประมาทกัน
มีวาระแห่งพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน ปิลินทวัจฉเถราปทาน ความว่า ....
“สัตว์ทั้งปวงซึ่งเป็นมิตรและมิใช่มิตร ย่อมไม่เบียดเบียนเรา เราเป็นที่รักของสัตว์ทุกจำพวก นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม”
ทุกๆ คนที่เกิดมาในโลกนี้ หากเกิดมาแล้วพบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าจะย่างก้าวไปสถานที่แห่งใด ก็มีแต่คนคอยต้อนรับ คอยอำนวยความสะดวกสบาย
ให้ หรืออย่างน้อยก้าวไปถึงไหนได้พบแต่ความสุขสบายใจที่นั่น อย่างนี้ก็
เนื่องจากสั่งสมบุญเก่ามาดี เพราะบุญที่เราสร้างเท่านั้น ที่สามารถอำนวย
ประโยชน์สุขทุกๆ อย่างที่เราปรารถนาได้
การเกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติ ผลแห่งบุญที่แต่ละคนทำย่อมมีผลที่
แตกต่างกันไป แม้จะแตกต่างกันออกไปตามเหตุที่ประกอบ แต่ถึงกระนั้น
ก็ยังเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า อานุภาพแห่งบุญนั้นมีจริง สามารถที่จะทำความ
ปรารถนาให้สำเร็จได้จริง เหมือนความปรารถนาของนักสร้างบารมีในกาล
ก่อน ที่น่าศึกษาน่าเอาเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี
เรื่องนี้เกิดขึ้นในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ
ได้มีกุลบุตรท่านหนึ่งเกิดในตระกูลที่มีโภคะมาก เป็นตระกูลที่เพียบพร้อม
ด้วยโลกิยสมบัติ อาศัยอยู่ที่เมืองหงสาวดี ตระกูลนี้นับว่าเป็นตระกูลสัมมา
ทิฏฐิ ล้วนแต่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย รักการสร้างบารมี และมักจะหา
โอกาสสร้างบุญพิเศษอยู่เสมอ กุลบุตรท่านนี้ก็เช่นกัน แม้จะเป็นมาณพ
หนุ่มที่มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ แต่ก็ไม่เคยหวงแหนหรือยึดติดอยู่ในสมบัติ
เลย จะคิดอยู่เสมอๆ ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยนทรัพย์หยาบๆ ที่มี
อยู่นี้ ให้กลายเป็นทรัพย์ละเอียดติดตัวไปได้
มีอยู่วันหนึ่งได้ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้
ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ก็ได้เห็นพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรง
สถาปนาพระอรหันต์องค์หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นภิกษุผู้เลิศกว่า
ภิกษุทั้งหลายในความเป็นที่รักของเทวดา ทำให้กุลบุตรท่านนั้นปรารถนา
อย่างแรงกล้าที่จะได้ตำแหน่งอันทรงเกียรตินั้น ก็คิดว่า พระบรมศาสดา
ตรัสว่า บุญเท่านั้นที่สามารถให้ผลได้ในทุกสิ่งที่ปรารถนา จะต้องสร้างบุญ
ให้มากๆ จึงจะได้เป็นอย่างที่พระภิกษุเอตทัคคะรูปนั้น
เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้ตั้งใจสร้างบารมีอย่างเต็มที่
โดยไม่มีข้อแม้ข้ออ้างหรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งหน้าตั้งตาตักตวงบุญอย่าง
เต็มที่ แล้วตั้งความปรารถนาให้ได้ตำแหน่งอันเป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย
ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลภายภาค
เบื้องหน้า หลังจากที่ท่านละจากโลก แล้วได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เสวยทิพยสมบัติที่ละเอียดประณีตด้วยอำนาจแห่งบุญที่ตนเองได้สั่งสมไว้
พอหมดบุญจากเทวดาก็จุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ละจากมนุษย์ก็ไปเกิดเป็น
เทวดา เวียนวนอยู่อย่างนี้นับภพนับชาติกันไม่ถ้วน
ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุเมธะ กุลบุตรนี้ก็ได้ลงมา
เกิดสร้างบารมี นับว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสลงมาสร้างบุญ
เพิ่มเติมในยุคที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น อยู่ใต้ร่มเงาศาสนาของ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุเมธะ ได้ตั้งใจสร้างบุญอย่างเต็มที่ทุก
อนุวินาที พอพระบรมศาสดาดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทพากันสร้าง
พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
ได้กราบไหว้บูชา
กุลบุตรนี้ก็คิดว่า “ตอนที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เราก็
ขวนขวายเอาบุญอย่างเต็มที่ ตอนนี้พระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว
เราเองก็ไม่ควรที่จะประมาท ควรที่จะสร้างบารมีพิเศษให้ยิ่งๆ ขึ้นไป”
เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ท่านก็ได้ตั้งใจเอาบุญด้วยการ
บูชาพระเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมํ่าเสมอ แล้วยังได้นิมนต์
พระขีณาสพมาเป็นเนื้อนาบุญที่บ้าน ได้ถวายสังฆทานอย่างเต็มกำลัง
ตั้งใจสร้างบารมีด้วยการบูชาพระเจดีย์ด้วยของหอมอย่างนี้จนกระทั่งตลอด
ชีวิต
หลังจากละโลกแล้วได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ ท่องเที่ยวอยู่เฉพาะเทวโลก และมนุษยโลก เมื่อลงมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ทำให้ได้บังเกิดเป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ สมบูรณ์ด้วยมหาสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง นับภพนับชาติ
ไม่ถ้วน จนกระทั่งมาถึงพุทธกาลนี้ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุง
สาวัตถี หมู่ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อท่านว่า ปิลินทะ ส่วนคำว่า วัจฉะ เป็นชื่อ
โคตร ต่อมาปรากฏนามว่า ปิลินทวัจฉะ และท่านก็ได้ออกบวชเป็นปริพาชก
สำเร็จคุณวิเศษสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ และรู้ใจผู้อื่นได้ สมบูรณ์
ด้วยลาภสักการะ อาศัยอยู่ที่กรุงราชคฤห์
ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสรู้แล้ว พระองค์เสด็จจาริกไปเผยแผ่พระสัทธรรมที่กรุงราชคฤห์ ตั้งแต่พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์
ปิลินทวัจฉปริพาชกก็ไม่สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ ทำให้ฉุกใจคิดว่า
มหาสมณะนี้ชะรอยจะมีวิชชาที่แก่กล้ากว่าเรา ทำให้วิชชาของเราไม่
สามารถที่จะแสดงอานุภาพได้ เมื่อคิดอย่างนี้ท่านก็ได้เดินทางไปเข้า
เฝ้าพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้บวชและแสดงธรรม
แก่ท่าน ได้ตรัสบอกกัมมัฏฐานที่ควรแก่อุปนิสัย ทำให้ปิลินทวัจฉภิกษุ
สามารถทำใจหยุดใจนิ่งเข้าถึงพระธรรมกาย บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ในที่สุด
ตั้งแต่ท่านบรรลุธรรม เทวดาทั้งหลายที่เคยตั้งอยู่ในโอวาทของพระ
เถระในชาติก่อนๆ เกิดความรักนับถือท่านมาก จึงมักจะเข้ามาหาพระเถระ
ทั้งเวลาเช้าและเย็น พระบรมศาสดามองย้อนไปในอดีต พบความปรารถนา
ของพระเถระในสมัยที่ยังสร้างบารมีอยู่ จึงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่ง
เอตทัคคะด้านผู้เป็นที่รักของเทวดา ส่งผลให้ท่านบรรลุถึงความปรารถนา
ในสิ่งที่ต้องการ
หลังจากที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว พระเถระได้ระลึกชาติไปดูการ
สร้างบารมีของท่านที่ผ่านมา ได้เห็นบุญต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ ก็เกิดมหา
ปีติได้เปล่งอุทานว่า "เมื่อพระสุเมธพุทธเจ้าปรินิพพาน เรามีความเลื่อมใส
มีใจโสมนัส ได้บูชาพระเจดีย์ของพระองค์ ได้ถวายสังฆทานแด่พระขีณาสพ อานุภาพบุญนั้นทำให้เราเข้าถึงทิพยสมบัติ ครอบงำเทวดาทั้งหลาย
สมบูรณ์ด้วยสมบัติจักรพรรดิ เข้าถึงความเป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย
บัดนี้ ความปรารถนาทั้งปวงของเราสำเร็จแล้ว อานุภาพแห่งบุญนี้ให้ผล
ได้ดังใจปรารถนา"
ดังนั้น ใครก็ตามที่สร้างบุญบารมี โอกาสที่ดีก็ย่อมจะมาถึงบุคคลผู้นั้น
อย่างแน่นอน เราปรารถนาสิ่งใด หากเราสร้างบารมีอย่างเต็มที่ชนิดเอาชีวิต
เป็นเดิมพัน เราจะสมปรารถนาทุกๆ อย่าง โดยไม่มีอุปสรรคอันใดมาขัดขวาง การตั้งใจสร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลังนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่ไม่ควรดู
เบากัน เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ต้องตั้งใจสร้างบารมีให้สมกับที่ได้เกิดมา
เก็บเกี่ยวบุญทุกๆ อย่าง ทั้งการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ให้
ตั้งใจทำอย่างนี้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ จนกว่าจะเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุก ๆ
คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา
หน้า ๑๓๕ - ๑๔๓
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
(ภาษาไทย) เล่มที่ ๗๑ หน้า ๒๘