บรรพบุรุษมนุษย์อาจหลับจำศีล เพื่อเอาชีวิตรอดจากฤดูหนาวสุดโหดหลายแสนปีก่อน
ร่องรอยบนชิ้นส่วนกระดูกที่ยืนยันว่ามนุษย์โบราณในยุคนั้นนอนหลับจำศีล ได้แก่รอยขีดขวางที่ชี้ว่าการเจริญเติบโตของกระดูกหยุดชะงักไปหลายเดือนในแต่ละปี นอกจากนี้ยังพบร่องรอยความเสียหายจากการขาดวิตามินดี https://www.boonnews.tv/n27657
ซากกระดูกมีร่องรอยของการหลับจำศีลเป็นช่วงๆ
ปัจจุบันเรารู้ดีว่ามนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ไม่สามารถนอนหลับจำศีล (hibernation) หรือลดอัตราการเผาผลาญใช้พลังงานของร่างกายลงในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้แบบสัตว์บางชนิด เช่นหมี ค้างคาว หรือลีเมอร์ แต่บรรพบุรุษมนุษย์ในยุคแรกเมื่อหลายแสนปีก่อนอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ทีมนักบรรพมานุษยวิทยาจากสเปนและกรีซ ซึ่งประกอบด้วย ศ. ฮวน-ลุยส์ แอร์ซัวกา และ ศ. อานโตนิส บาร์ตซิโอกาซ ได้ตีพิมพ์เรื่องการค้นพบครั้งสำคัญลงในวารสาร L'Anthropologie โดยระบุว่าพบชิ้นส่วนฟอสซิลของกระดูกมนุษย์โบราณในถ้ำแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของสเปน ซึ่งซากกระดูกนี้มีร่องรอยของการหลับจำศีลเป็นช่วงๆ ในแต่ละปีปรากฏอยู่
ถ้ำ Sima de los Huesos หรือ "หลุมฝังกระดูก"
มีการขุดพบชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าวจำนวนหนึ่ง ในปล่องลึก 15 เมตรของถ้ำ Sima de los Huesos หรือ "หลุมฝังกระดูก" อันเป็นสถานที่ขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
มนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล
ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าถ้ำแห่งนี้เป็นหลุมฝังศพแบบรวมหมู่ ซึ่งฟอสซิลกระดูกส่วนใหญ่ที่พบเป็นของมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล แต่ในครั้งนี้มีชิ้นส่วนกระดูกของโฮโม ไฮเดลเบอร์เกนซิส (Homo heidelbergensis) ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 4 แสนปีปะปนอยู่ด้วย
ร่องรอยบนชิ้นส่วนกระดูกที่ยืนยันว่ามนุษย์โบราณในยุคนั้นนอนหลับจำศีล ได้แก่รอยขีดขวางที่ชี้ว่าการเจริญเติบโตของกระดูกหยุดชะงักไปหลายเดือนในแต่ละปี นอกจากนี้ยังพบร่องรอยความเสียหายจากการขาดวิตามินดี รวมทั้งรอยโรคที่เกิดจากการหลับจำศีลโดยร่างกายมีไขมันสะสมไว้ไม่พอ เช่นภาวะกระดูกเสื่อมและโรคไตอีกด้วย ซึ่งร่องรอยเหล่านี้มีลักษณะตรงกับที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพฤติกรรมหลับจำศีลในฤดูหนาว
ทีมผู้วิจัยระบุในรายงานการค้นพบว่า "แม้จะฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับไพรเมต หรือสัตว์จำพวกวานรบางชนิด เช่นบุชเบบี้หรือลีเมอร์นั้นก็หลับจำศีลเช่นกัน แสดงว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดรวมทั้งมนุษย์ก็มีพื้นฐานทางพันธุกรรมและสรีระที่รองรับพฤติกรรมการนอนหลับจำศีลได้ ถึงแม้มนุษย์จะยังทำได้ไม่ดีเท่าสัตว์ชนิดอื่นก็ตาม"
เมื่อราว 4 แสนปีก่อน โลกอยู่ในยุคน้ำแข็งที่อากาศหนาวเย็นหฤโหดและมีความแห้งแล้งมากที่สุดครั้งหนึ่ง ทีมผู้วิจัยจึงเชื่อว่าการนอนหลับจำศีลในถ้ำตลอดช่วงฤดูหนาว ขณะที่สภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดของปี ถือเป็นกลยุทธ์ที่มนุษย์โบราณใช้เพื่อเอาชีวิตรอดจากความหนาวเหน็บและขาดแคลนอาหาร โดยอาจเลียนแบบพฤติกรรมของหมีถ้ำที่หลับจำศีลเช่นกันนั่นเอง
หมีไม่ได้หลับจำศีลอย่างสมบูรณ์แบบ แต่อยู่ในภาวะเฉื่อยชาและไม่รู้สึกตัวเป็นห้วงๆ
ถึงจะมีผู้โต้แย้งว่า เหตุใดมนุษย์ยุคปัจจุบันที่อาศัยในพื้นที่หนาวเย็น อย่างชาวอินูอิตและชาวซามีในแถบอาร์กติกจึงไม่หลับจำศีลบ้าง แต่ทีมผู้วิจัยบอกว่าชนเผ่าทั้งสองมีแหล่งอาหารไขมันสูงเพียงพอตลอดปี ซึ่งบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียหรือแถบประเทศสเปนเมื่อ 4 แสนปีก่อนไม่เป็นเช่นนั้น
ด้าน ศ. คริส สตริงเกอร์ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่กรุงลอนดอนแสดงความเห็นว่า หากมนุษย์โบราณมีพฤติกรรมหลับจำศีลจริง ก็น่าจะเป็นการนอนแบบไม่หลับลึกมากนัก และลดอัตราการเผาผลาญของร่างกายลงได้เพียงเล็กน้อยคล้ายกับหมี ซึ่งที่จริงมันไม่ได้หลับจำศีลอย่างสมบูรณ์แบบ แต่อยู่ในภาวะเฉื่อยชาและไม่รู้สึกตัวเป็นห้วงๆ (torpor) มากกว่า
Posted in : BBC NEWS I ไทย - วิทยาศาสตร์
Posted on : 24 ธันวาคม 2020